ลิฟต์เขียวสไตล์ปังขิง ณ ศิลปากร ว่าด้วยสถาปัตยกรรมไทยในการออกแบบลิฟต์

Menu

Auditorium Lift Renovation at Silpakorn University

“ลิฟต์เขียวสไตล์ปังขิง ณ ศิลปากร ว่าด้วยสถาปัตยกรรมไทยในการออกแบบลิฟต์ ”

จะเป็นยังไงถ้านำสถาปัตยกรรมไทยรวมกับการออกแบบลิฟต์?

พวกเรา mArchten ได้รับโจทย์ในการออกแบบเรือนลิฟต์นี้โดยเป็นการปรับปรุงศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา อาคารรับรองและเรือนจำลอง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ ใครเป็นเด็กศิลปากรคงจะคุ้นเคยกันอยู่แล้วบ้าง เราจะพาไปสำรวจไอเดียในการออกแบบและจุดที่น่าสนใจจากโปรเจ็คนี้กัน

ศิลปากร สีเขียวเวอร์ริเดียน ศาลาดนตรี

เพราะที่นี่คือ ‘ศิลปากร’ สีของเรือนลิฟต์นี้เลยถูกแต้มด้วยสีเขียวเวอร์ริเดียนหรือ สีเขียวตั้งแช ซึ่งเป็นสีประจําของมหาวิทยาลัยศิลปากร ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวรอบเขตพระราชวังและมีโอกาสได้เข้าไปในมหาวิยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จะมีศาลาเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ในสวนหย่อมขนาดเล็กกลางมหาวิทยาลัย หรือที่เด็กศิลปากรเรียกกันว่า ‘สวนแก้ว’ โดยศาลานั้นมีชื่อเรียกว่า ‘ศาลาดนตรี’ เพราะเคยเป็นที่แสดงมโหรสพในสมัยก่อน ซึ่งศาลาดนตรีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเรือนขนมปังขิงนั่นเอง ในปัจจุบัน ศาลาดนตรียังเปิดให้ใช้งานได้ตามปกติ และเปลี่ยนตัวตนเป็นสถานที่ไว้นั่งพักผ่อน หย่อนใจ ของนักศึกษาศิลปากร ถึงแม้จะไม่ได้เป็นที่แสดงมโหรสพเหมือนสมัยก่อนแล้วก็ตาม เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สามารถหลบความวุ่นวายจากนอกรั้วมหาวิทยาลัย สัมผัสบรรยากาศของสวนดอกแก้วใจที่หาไม่ได้ที่ไหนในกรุงเทพมหานคร

สไตล์ของ ‘เรือนขนมปังขิง’ ในการออกแบบลิฟต์

ตั้งแต่รูปทรงจนไปถึงลายฉลุต่างๆจะเห็นว่า ‘สถาปัตยกรรมไทย’ เป็นไอเดียหลักของโปรเจ็คนี้ แต่ว่าถ้าลองสังเกตุดูดี ๆ องค์ประกอบบางอย่างที่เราเห็นอาจจะดูคุ้นตากันอยู่บ้าง เริ่มตั้งแต่รูปทรงที่หยิบยืม ‘เรือนขนมปังขิง’ มาเป็นหัวใจหลัก โดยเรือนขนมปังขิงนั้นได้รับอิทธิพลครั้งเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยได้มีการค้าขายกับชาวต่างชาติ และที่ได้ชื่อเรือนขนมปังขิงนั้นมีที่มาจาก ขนมขิง (Gingerbread) ซึ่งนิยมทํากันในช่วงคริสต์มาสและรูปแบบบ้านมาจากนิทานของพี่น้องตระกูล กริมม์ “ฮัลเซล แอนด์ เกรเทล” เป็นบ้านของเจ้านาย

ช่วงแรกลวดลายเรือนขนมปังขิงยังไม่มีความซับซ้อนมาก จนมาต้นรัชกาลที่ 6 มีช่างไม้ฝีมือดีจากเมืองจีนเข้ามาอยู่ในสยามมากขึ้นเลยทําให้เรือนขนมปังขิงจึงเริ่มมีลายเริ่มมีความซับซ้อน ดูอ่อนช้อยตามทักษะฝีมือและโปร่งเบามากขึ้นตามสภาพของบ้านเราที่เป็นเมืองร้อน ตัวอย่างเรือนขนมปังขิงในประเทศไทย เช่น พระที่นั่งวิมานเมฒ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ฯลฯ 

ในโปรเจ็คนี้ดีไซน์เนอร์ได้นําเอกลักษณ์ของเรือนขนมปังขิงมาประยุกต์ใช้งานออกแบบ ลายฉลุช่องลมจากพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ชุดประตูหน้าต่างจากพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จนไปถึงราวระเบียงก็นํามาประยุกต์ใช้เช่นกัน

ลิฟต์ลายฉลุไม้

ด้านในเรือนลิฟต์ตกแต่งด้วยลวดลายฉลุที่ต่อมาจากลายด้านนอก แต่ที่ต่างกันคืองานภายในเลือกใช้งานไม้เป็นการโชว์เสน่ห์ของพื้นผิววัสดุที่ซ้อนทับอยู่ในการฉลุลายอีกที 

ส่วนประตูของลิฟต์ก็มีทําลวดลายโดยใช้เทคนิคการพ่นทรายลงบนผิวกระจกทําให้เกิดลายต่าง ๆ ซึ่งลวดลายบนกระจกนี้มาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่น ปีมะแมและดอกม่วงเทพรัตน์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ รวมไปถึงการแสดงความสวยงามของพรรณไม้ต่าง ๆ

Universal Design ขยับออกไปจากภายในโถงหอประชุม ดีไซน์เนอร์ได้นํา Corridor ทางเดินจากพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมาเป็นทางลาดยาวจากทางเดินด้านนอกเข้าสู่โถงอาคารโดยประยุกต์เป็นทางลาดสําหรับผู้ใช้รถเข็นและผู้ทุพลลภาพ มีการออกแบบความชันในระดับอันเหมาะสมซึ่งเป็น Universal Design คือการออกแบบเพื่อมวลชนและเป็นอีกหนึ่งความต้องการในของการออกแบบเรือนลิฟต์แห่งนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาปัตยกรรมกรรมสมัยเก่ามีความนิยมน้อยลงไปตามยุคสมัย พวกเรา mArchten เลยขอช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการประยุกต์ไอเดียจากความเก่าแก่สู่ความใหม่ทําให้สถาปัตยกรรมเก่าๆ ไม่จางหายไปตามเวลา  และนี่คือภาพรวมทั้งหมดของโปรเจ็คเรือนลิฟต์สไตล์ขนมปังขิง ใครมีเวลาว่างหรือเด็กศิลปากรทับแก้วคนไหนเคยถ่ายรูปกับเรือนลิฟต์นี้มาแชร์รูปกันได้นะ!

 

เรื่อง : ปาณิสรา ชมภูเพชร

ภาพ : Beer Singnoi

Related Projects/Articles

ZillionHQ10-0002A_result
Zillion Headquarter
2_191010_0007
Horwan at Silom
03Saurcery01
Saucery at Silom
Kowit-(4)
Kowit Residence
DiningB-s
Glorious Ancient Residence at Belle
_MG_4314
Summer Tree Hotel
Perspective 05
Thanitsak Residence