SAKRANBOULEVARD
“ เมื่อความเชื่อและงานออกแบบมาบรรจบกันเป็นความลงตัว”
‘SAKRANBOULEVARD’ เมื่อความเชื่อและงานออกแบบมาบรรจบกันเป็นความลงตัว
[ห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขก]
SakranBoulevard เป็นโปรเจกต์ที่ mArchten เข้ามารับผิดชอบทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน แม้เจ้าของบ้านจะได้แปลงที่ดินและบ้านในสไตล์ที่ต้องการแล้ว แต่รายละเอียดการใช้งานก็ยังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม โดยที่จอดรถซึ่งกว้างขวางเกินความต้องการจึงถูกแบ่งมาใช้งานเป็นพื้นที่ใช้สอยภายใน อย่างห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่พร้อมพื้นที่เตรียมอาหารเพื่อรองรับกิจกรรมสำหรับครอบครัว ซึ่งออกแบบให้แยกจากห้องนั่งเล่นอีกห้องอย่างชัดเจน
[รูปลักษณ์ภายนอกคือส่วนสำคัญที่บ่งบอกบุคลิก]
สำหรับงานกั้นห้องและต่อเติมหลังคาบริเวณพื้นที่จอดรถ ทีมออกแบบตั้งใจคำนึงถึงรูปลักษณ์ของอาคารเป็นหลัก เนื่องจากบ้านมีรูปแบบการตกแต่งที่เฉพาะตัว ยิ่งไปกว่านั้นความต้องการพื้นที่จอดรถขนาด 4 คัน ก็มีความกว้างขวางมากกว่าพื้นที่ปกติ โดยหากมีการออกแบบหลังคาผืนใหญ่โดยไม่ใส่ใจรูปแบบเดิมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสายตาจากมุมมองภายนอก จึงมีการออกแบบโดยอ้างอิงจากสัดส้ดส่วนของจากบัวตกแต่งอาคารและวัสดุเดิมมาใช้งานเพื่อเพิ่มความกลมกลืน ส่วนด้านโครงสร้างออกแบบโดยแยกจากโครงสร้างบ้านที่มีอยู่เดิมเพื่อป้องกันการทรุดตัวตามกาลเวลาที่มักเปลี่ยนแปลงแบบไม่เท่ากัน พร้อมลงเสาเข็มเพื่อเสริมความแข็งแรงในระยะยาว
[จะความเชื่อหรือซินแสก็ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม]
จบจากการวางการใช้งานหลักก็มาทำงานต่อกันที่ภายในบ้าน ซึ่งโปรเจกต์นี้ทีมออกแบบวางแผนการทำงานร่วมกับซินแสตั้งแต่ขั้นตอนแรก สิ่งที่เห็นได้ตั้งแต่แวบแรกที่เข้าตัวบ้านมาคือทางเดินยาวที่มีภาพภูเขาโอบรอบเพื่อรับพลังไม่ให้รั่วไหลออกไปสู่บริเวณด้านหลัง จึงส่งผลให้ผนังที่แต่เดิมกำหนดไว้ให้เป็นผยังกระจกถูกเปลี่ยนเป็นผนังแบบทึบเพื่อเสริมความมั่นคง
นอกจากนั้นทีมออกแบบจาก mArchten ยังออกแบบให้ตลอดทางเดินนี้สามารถใช้งานเป็นชั้นโชว์ของสะสมที่ของเจ้าของบ้านอีกด้วย โดยใช้ความเชื่อเข้ามาเสริมในรายละเอียดส่วนอื่นๆ ของบ้าน เช่น การเลือกใช้ผ้าม่านที่ในบ้านให้ตรงกับ ตำแหน่งของห้องพระที่อยู่ตรงใจกลางของชั้นสอง หรือการกำหนดสัดส่วนของชุดโต๊ะหมู่บูชาที่ใช้ขนาดตามระยะในทุกรายละเอียด ซึ่งทุกจุดยังคงความลงตัวของงานออกแบบไว้ได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นการผสมผสานความเชื่อเพื่อความสบายใจเข้าไปกับความสวยงามอย่างแนบเนียน
[บ้านคือสถานที่สำหรับสมาชิกในครอบครัว]
ที่กล่าวมาเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของบ้านเท่านั้น การตกแต่งภายในบ้านหลังนี้มีการปรับตามความต้องการด้านอื่นๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการอาศัยร่วมกันอย่างเป็นมิตร และพยายามจะสร้างพื้นที่ที่คนในครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว ทั้งห้องทำงานของพ่อแม่และห้องทำงานของลูกที่เชื่อมถึงกัน และการมีห้องนั่งเล่นแยกให้ครอบครัวใช้งานเมื่อถึงเวลามีแขกมาที่บ้าน ก่อเกิดเป็นบรรยากาศดีๆ ให้คนที่อาศัยอยู่ภายใน
[นอนหลับพักผ่อนอย่างสบายใจใน Sakran]
ห้องนอนซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของใครหลายคนถูกออกแบบตามความต้องการของเจ้าของแต่ละห้อง พร้อมเสริมเฟอร์นิเจอร์ built-in เข้าไปเติมเต็มพื้นที่ไม่ให้รู้สึกโล่งจนเกินไป ด้านห้องนอนหลักที่มีระเบียงกึ่งภายนอกในตัวก็ได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับการใช้งานมากขึ้น ปัญหาที่เราต้องพบเจอควบคู่กับการมีระเบียงคือนกและปัจจัยภายนอกต่างๆ ทีมผู้ออกแบบจึงแก้ไขด้วยการติดตั้งกระจกแทนราวระเบียงในส่วนที่โล่ง ทำให้สิ่งรบกวนเหล่านี้ไร้ผลไปในที่สุด
[จับมือกันเพื่อดีไซน์ที่เวิร์กที่สุดสำหรับเจ้าของบ้าน]
ไม่ว่าจะแง่มุมไหนของบ้านหลังนี้ล้วนถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้ภาษาการออกแบบเดียวกันให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนไหนที่ดูผิดแปลก ความเรียบง่ายและเส้นโค้งช่วยปรุงความเชื่อและการใช้งานให้กลมกล่อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานมาแย้งความคิดที่ว่าบ้านที่ถูกเงื่อนไขและหลักการมากมายมาจำกัดจะต้องไม่สวยเสมอไป แท้จริงแล้วความเชื่อสามารถทำงานร่วมกับความสวยงาม เฉกเช่นเดียวกับซินแสที่สามารถทำงานร่วมกับ mArchten